วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ที่มาของการเยี่ยมบ้าน


ในอดีต การดูแลรักษา การเยี่ยมไข้ หรือ การทำคลอด มักจะทำที่บ้าน ไม่ว่าจะโดยแพทย์ แพทย์ประจำตำบล หมออนามัย ผดุงครรภ์ หมอตำแย ซึ่งเป็นการให้บริการในบริบทการรักษาพยาบาลเป็นส่วนมาก แต่เมื่อมีการพัฒนาการบริการทางสาธารณสุข การคมนาคมที่ดีขึ้น หรือมีการดูแลกับแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น จึงเน้นดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทำให้ความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือในชุมชน ลดน้อยลงตามไป แต่ในปัจจุบัน บริบทของการสาธารณสุขมูลฐานคือ การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งในปัจจุบันพบว่ากลุ่มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขและมีความสำคัญ ต่อ การป่วย พิการ  และตายก่อนวัยอันควรจำนวนมาก ได้แก่  โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้ไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะบุคคลผู้ที่เป็นโรคเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงครอบครัว ชุมชน    รวมไปถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยพบว่าจากการคาดประมาณการสูญเสียรายได้จากผลผลิตประชาชาติ (GDP) ของประเทศไทย จากหัวใจ อัมพาต และเบาหวาน ในปี พ.ศ.2549 ประมาณ 4,200 ล้านบาท และในอีก 10 ปี ข้างหน้า พ.ศ. 2558 (หากยังคงมีการเพิ่มของปัญหาเช่นเดียวกับเมื่อก่อนปี พ.ศ.2547) จะมีการสูญเสียสะสมเป็นประมาณ 52,150 ล้านบาท     แต่ถ้ามีการป้องกันควบคุมโรคดังกล่าวได้ จะลดการสูญเสียรายได้ผลผลิต ร้อยละ 10-20 จากการสูญเสียทั้งหมด  จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2550 พบว่าอัตราผู้ป่วยในต่อแสนประชากร ในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังข้างต้นสูงเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ 1. โรคความดันโลหิตสูง (อัตรา 782.38)   2. โรคเบาหวาน(อัตรา 654.44)  3. โรคหัวใจขาดเลือด(อัตรา 262.32)  และ 4. โรคหลอดเลือดสมอง(อัตรา 206.34)   โดยพบว่าโรคดังกล่าวมี อัตราการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น จากปี 2540 ทุกโรค ซึ่งโรคเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมาย ถ้ามีการดูแลสุขภาพ หรือการปฏิบัติตนที่ไม่เหมาะสม
และการที่จะลดอุบัติการณ์ดังกล่าวสามารถ ทำได้โดยอาศัยบริบทในด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพโดยเน้นไปที่การบริการเชิงรุก และการบริการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพนั้นคือ การเยี่ยมบ้าน โดยการเยี่ยมบ้านที่มีประสิทธิภาพนั้นควรมีรูปแบบ แนวทาง วัตถุประสงค์และขั้นตอนที่ชัดเจน รวมทั้งในปัจจุบันมีการบรรจุหลักสูตรที่เกี่ยวข้องการเยี่ยมบ้าน การให้บริการสุขภาพที่บ้าน ในการเรียนการสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งในการเรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แต่ยังไม่มีการทำงานร่วมกันกับทีมสหสาขาวิชาชีพอย่างชัดเจน  เมื่อมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งมีระบบการเยี่ยมบ้านที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ จึงมีความสนใจในการศึกษากระบวนการ ขั้นตอน เพื่อเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และต่อยอดการเรียนรู้ ในการเยี่ยมบ้านต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น