วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ชนิดของการเยี่ยมบ้าน


ชนิดของการเยี่ยมบ้าน
ผู้ป่วยลักษณะไหนบ้างที่ควรเยี่ยมบ้าน ที่เหมาะสมที่สุดน่าจะเป็นผู้ป่วยที่ติดบ้าน (homebound) คือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้หรือต้องใช้เครื่องช่วยเมื่อต้องการออกจากบ้าน แต่เราสามารถแบ่งประเภทของการดูแลสุขภาพโดยใช้วิธีการเยี่ยมบ้านได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1. การเยี่ยมบ้านกรณีเจ็บป่วย
การเจ็บป่วยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทได้แก่ 
  • กรณีฉุกเฉิน  การเยี่ยมบ้านประเภทนี้มักจะเป็นการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกับผู้ป่วยในครอบครัว เช่น หมดสติ, หอบมาก เป็นต้น  เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้มักต้องอาศัยการช่วยเหลือที่บ้านหรือที่เกิดเหตุทันที  ต้องมีระบบการติดต่อสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ให้การช่วยเหลือ  ทีมที่ช่วยเหลือควรจะมีความรู้และทักษะเป็นอย่างดีในการช่วยเหลือเบื้องต้นในที่เกิดเหตุ  ในประเทศไทยการช่วยเหลือลักษณะนี้มักจะพบในอุบัติเหตุตามท้องถนน  ผู้ช่วยเหลือควรจะมีความรู้ในการช่วยเหลือเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายมากขึ้นกว่าเดิม และช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยได้อย่างดี  ก่อนที่จะส่งต่อไปโรงพยาบาลเมื่อจำเป็น
  • โรคฉับพลัน  เช่น  โรคหวัด, ท้องร่วง เป็นต้น  การเยี่ยมบ้านจะช่วยประเมินและในการช่วยเหลือเบื้องต้น
  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, อัมพาต เป็นต้น  การเยี่ยมบ้านทำเพื่อประเมินและวางแผนในการช่วยเหลือให้กับผู้ป่วย, ญาติ หรือหน่วยงานใดในการช่วยเหลือผู้ป่วย
2.   การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต
ผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย, โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น  จุดประสงค์ในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยประเภทนี้  ได้แก่
  • การดูแลระยะสุดท้าย  ผู้ป่วยประเภทนี้มักจะทรมานจากอาการปวดมาก, บวม หรือหอบ การช่วยเหลือผู้ป่วย เช่นให้ยาลดอาการปวด, ลดอาการบวมให้ผู้ป่วย, เจาะดูดน้ำในช่องท้อง, ให้ออกซิเจน เป็นต้น
  • ประกาศการเสียชีวิต  เมื่อเกิดการเสียชีวิตในบ้านการบอกสาเหตุของการเสียชีวิตอาจจะผิดพลาดได้เนื่องจาก ผู้ประกาศการเสียชีวิตมักจะเป็นสมาชิกในครอบครัว  การเยี่ยมบ้านโดยแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวหรือทีมจะช่วยบอกสาเหตุการตายได้  และทำให้อัตราการตายที่รวบรวมไว้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น  เพื่อที่จะใช้บอกแนวโน้มการเสียชีวิตและวางแผนในการป้องกันโรคเหล่านั้น
  • ประคับประคองภาวะโศกเศร้า  แพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวสามารถให้การประคับประคองทั้งร่างกายและจิตใจแก่สมาชิกในครอบครัว ตั้งแต่ระยะที่รู้ว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตจนถึงผู้ป่วยเสียชีวิตลงไป  และประเมินความผิดปกติที่เกิดขึ้นแก่สมาชิกในครอบครัว  เมื่อภาวะโศกเศร้าไม่หายไปในระยะเวลาที่สมควร
3.   การเยี่ยมบ้านเพื่อประเมิน
แพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวใช้การเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย  ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพกายต้องประเมินการใช้ยาของผู้ป่วย ซึ่งมักจะมีการใช้ยามาก ประเมินการใช้แหล่งบริการทางสุขภาพมากผู้ป่วยบางคนอาจนิยมไปหาหมอ ตามที่ต่างประเมินความเสี่ยงของสมาชิกในบ้านที่อาจจะถูกละลายหรือถูกทำร้ายจากสมาชิกในครอบครัว เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็ก เป็นต้น  ประเมินผู้ป่วยที่จำเป็นต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล  ประเมินร่วมกับสมาชิกในครอบครัวเมื่อเกินความสามารถของสมาชิกในครอบครัวจะดูแกผู้ป่วยได้
4.   การเยี่ยมบ้านหลังจากออกจากโรงพยาบาล
ประเภทของการเยี่ยมบ้านหลังจากออกจากโรงพยาบาลจากการนอนโรงพยาบาลหรือมาตรวจที่แผนก ผู้ป่วยนอก ได้แก่
  • นอนโรงพยาบาลโดยโรคฉับพลัน, อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด  ผู้ป่วยที่มานอนโรงพยาบาลโดยโรคต่าง ๆ หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาล  สามารถที่จะติดตามเยี่ยมบ้านต่อได้ เช่น ในผู้ป่วยโรคฉับพลันเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สามารถกลับบ้านได้แพทย์ประจำครอบครัวสามารถติดตามเยี่ยมบ้าน เพื่อดูอาการหรือปัจจัยบางอย่างที่มีผลต่อโรคผู้ป่วย  ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกการติดตามการเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินอาการผู้ป่วย  ประเมินแหล่งที่จะเป็นที่วางไข่ของยุง เป็นต้น  กรณีผู้ป่วยอุบัติเหตุหรือผ่าตัด  การติดตามการเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินบาดแผล, ทำแผลผู้ป่วย, ตัดไหม หรือประเมินสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  • ครอบครัวและบุตรที่เกิดใหม่  การเยี่ยมบ้านครอบครัวที่มีบุตรเกิดใหม่เพื่อช่วยเหลือพ่อ,แม่ที่มีบุตรใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ ในการดูแลลูก  รวมถึงการประเมินสิ่งแวดล้อมในครอบครัว  เพื่อให้เกิดการดูแลเกิดใหม่อย่างดี
  • ไม่มาตามนัด  ผู้ป่วยที่ขาดนัดหรือไม่มาตามนัด  การเยี่ยมบ้านจะช่วยประเมินสาเหตุหรือเหตุผลของผู้ป่วยที่ไม่มาตามนัด  หรือมีเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยไม่สามารถมาได้เพื่อทำให้การความต่อเนื่องของการรักษาได้ดียิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น