วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

แนวทางการเยี่ยมบ้าน


แนวทางการเยี่ยมบ้าน
การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยครั้งนี้เพื่ออธิบายสุขภาวะของผู้ป่วยและครอบครัวจากการเจ็บป่วย ที่สัมพันธ์กับปัจจัยสุขภาพ (health determinants) และระบบบริการสุขภาพ การเยี่ยมบ้านจะต้องเกิดจากความยินยอมของสองฝ่ายคือฝ่ายผู้เยี่ยมและฝ่ายผู้ถูกเยี่ยมมีความยินยอม พร้อมใจกัน เมื่อเลือกครอบครัวที่จะเยี่ยมแล้วแนวทางในการเยี่ยมแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. ขั้นตอนก่อนการเยี่ยมบ้าน  ประกอบด้วย มีวัตถุประสงค์ในการเยี่ยม, ศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว,มีแผ่นที่การเดินทางและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ป่วย, โทรศัพท์หรือติดต่อนัดหมายเวลาเยี่ยม, มีพาหนะที่ใช้ในการเยี่ยม ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
2.ขั้นตอนขณะเยี่ยมบ้าน ประเมินทั้งด้านร่างกาย, จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ของครอบครัว
3.ขั้นตอนหลังการเยี่ยมบ้าน สรุปปัญหาทางด้านร่างกาย, จิตใจและสังคม, แนวทางการเยี่ยมครั้งต่อไป, บันทึกข้อมูล
การเยี่ยมบ้านทำให้เกิดความพึงพอใจของผู้ป่วยมากขึ้นและเพิ่มแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการ และผู้ป่วย
ขั้นตอนก่อนการเยี่ยมบ้าน
ก่อนการเยี่ยมบ้านทีมเยี่ยมบ้านควรจะมีความรู้หรือข้อมูลและเตรียมอุปกรณ์ในการเยี่ยมบ้าน 
  • วัตถุประสงค์ของการเยี่ยม
1.  ศึกษาองค์ประกอบของสุขภาพ (health determinants) ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วย
2.  ทำความเข้าใจถึงประสบการณ์ ปัญหาและสภาวะต่างๆ ในทุกมิติของสุขภาพ ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยและครอบครัวรวมทั้งการดูแลตนเอง หลังจากมีอาการเจ็บป่วย
3.  อธิบายความคาดหวังของผู้ป่วยและครอบครัวที่มีต่อการเจ็บป่วยและจากแพทย์ / ระบบบริการปฐมภูมิ
อุปกรณ์ในการเยี่ยมบ้าน
การไปเยี่ยมบ้านควรมีอุปกรณ์สำหรับเยี่ยมบ้าน ได้แก่
  • แผนที่ในการเดินทาง, หมายเลขโทรศัพท์
  • สมุดบันทึก
  • กล้องถ่ายรูป / VDO
แผ่นที่การเดินทางและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ป่วย
ก่อนการเยี่ยมบ้านควรจะทราบทางที่จะไปบ้านที่จะไปเยี่ยมหรือมีแผ่นที่เดินทางไปยังบ้าน  หรือมีแผ่นที่การเดินทางภายในเขตที่จะเยี่ยมทำให้สะดวกและประหยัดเวลาในการเยี่ยม  ควรจะทราบหมายเลขโทรศัพท์ของบ้านที่จะเยี่ยม  กรณีไม่มีอาจจะขอหมายเลขโทรศัพท์ของบ้านใกล้เคียงเพื่อใช้ในการติดต่อ
โทรศัพท์หรือติดต่อนัดหมายเวลาเยี่ยม
โทรศัพท์นัดหมายเวลาเยี่ยมครอบครัวหรือติดต่อกับครอบครัวที่จะเยี่ยมก่อน  เพื่อไม่ต้องเสียเวลาในการไปเยี่ยมเมื่อไม่มีสมาชิกในบ้านอยู่  หรือกรณีที่สมาชิกในบ้านหรือผู้ป่วยไม่สะดวกที่จะให้เยี่ยมบางเวลา  และครอบครัวควรต้องมีเบอร์ติดต่อของผู้เยี่ยมด้วยเพื่อใช้ในการติดต่อกลับ  กรณีที่สมาชิกของครอบครัวต้องการติดต่อกลับเพื่อปรึกษาหรือต้องการให้เยี่ยม  โดยมีข้อตกลงของการให้บริการทั้ง 2 ฝ่ายก่อน
ขั้นตอนขณะเยี่ยมบ้าน
การที่จะประเมินให้ได้ครบถ้วนอาจต้องใช้สิ่งช่วยจำ เช่น จำตัวย่อ INHOMESSS หรือจำเป็นระบบร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ (bio psycho social spiritual)
สิ่งที่ควรทำ คือ การเริ่มจากทบทวนวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมร่วมกับสมาชิกครอบครัว  
ประเมินปัญหาเดิมของผู้ป่วยและปัญหาใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น
การเคลื่อนไหว(immobility) ได้แก่ การประเมินกิจวัตรประจำวัน(Activities of daily living)ได้แก่การอาบน้ำ, การเคลื่อนย้าย, การแต่งตัว, การเข้าห้องน้ำ, การกินอาหาร และการปัสสาวะและอุจจาระหรือประเมินการใช้เครื่องมือในกิจวัตรประจำวัน(Instrumental activities of daily living)ได้แก่  การใช้โทรศัพท์, การรับประทานยา, การไปตลาด, ชำระบิล, เตรียมอาหาร และทำงานบ้าน  นิสิตสามารถสอบถามหรือสังเกตจากกิจวัตรประจำวันได้ 
อาหาร(nutrition) ได้แก่ การประเมินลักษณะอาหาร, ชนิดของอาหาร ที่ผู้ป่วยและครอบครัวรับประทานว่าเหมาะสมกับโรคหรือภาวะที่เป็นหรือไม่  ประเมินการเก็บอาหาร เป็นต้น
สภาพบ้าน(housing) ได้แก่ การประเมินสภาพบ้านครอบครัวที่นิสิตดูแล  ว่าเหมาะสมกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยเป็นวัณโรคควรอยู่ในห้องที่มีหน้าต่าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก, ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมควรที่จะนอนอยู่ชั้น1ของบ้านไม่เดินขึ้นบันได เป็นต้น
เพื่อนบ้าน(other people) ได้แก่ การประเมินดูเพื่อนบ้านของครอบครัวที่นิสิตดูแล  ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อครอบครัวผู้ป่วยมีปัญหา เพื่อนบ้านสามารถให้การช่วยเหลือได้หรือไม่
การใช้ยา(medication) ได้แก่ ประเมินวิธีการใช้ยา  ผู้ป่วยกินยาสม่ำเสมอและถูกต้องหรือไม่  ภาชนะที่บรรจุยาเหมาะสมกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นหรือไม่หรือเหมาะสมกับยานั้นหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคข้อการหยิบยาจากซองยาทำได้ยากต้องบรรจุยาไว้ในขวดยา  ยาบางอย่างไม่ให้ถูกแสง เป็นต้น
การตรวจร่างกาย(examination)  ได้แก่ ประเมินจากการสอบถามความผิดปกติของร่างกาย จากผู้ป่วย หรือญาติ
แหล่งให้บริการ(services) ได้แก่ การประเมินว่ามีแหล่งบริการอะไรบ้างที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วย ภายในครอบครัวหรือในชุมชนได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข, บ้านประธานชุมชน, อสม. เป็นต้น
ความปลอดภัย(safety) ได้แก่ การประเมินสภาพบ้านของผู้ป่วยตัวบ้าน, เฟอร์นิเจอร์, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก  เป็นต้น  ว่ามีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับครอบครัว ในการอยู่อาศัยเหลือไม่ เช่น สายไฟที่เดินในบ้านใช้มานานควรจะเปลี่ยนหรือไม่, พื้นห้องน้ำลื่นเกินไปหรือไม่, บันไดบ้านชันหรือมีราวให้จับหรือไม่ เป็นต้น
จิตวิญญาณ(spiritual)  ได้แก่  การประเมินในเรื่องของการค้นหาความหมาย, วัตถุประสงค์และความจริงในชีวิต  ความเชื่อและคุณค่าในสิ่งที่แต่ละบุคคลอาศัยอยู่  เรื่องของความรู้สึก  สิ่งที่อยู่ในจิตใจ  รวมถึงสิ่งที่บุคคลแสดงออกมาจากความเชื่อ ทางจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล ส่วนของจิตวิญญาณจะมีผลต่อสุขภาพได้ เช่น นิกายในศาสนาบางนิกายห้ามเติมเลือดจากผู้อื่น  เมื่อผู้ป่วยท่านนั้นจำเป็นต้องผ่าตัด อาจต้องเตรียมการใช้เลือดของผู้ป่วยเองเมื่อจำเป็น เป็นต้น
เทคนิคที่ใช้ขณะเยี่ยมบ้าน      
ขณะที่เยี่ยมบ้าน สามารถใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลดังนี้
  • การสัมภาษณ์  โดยมีหลักคือ ฟังด้วยความเห็นใจ, ใช้คำถามเปิด, อย่าแสดงความรีบร้อน, อย่าขัดจังหวะ
  • การสังเกต ในสิ่งที่ผู้ป่วยและสมาชิกภายในครอบครัวทำ  สังเกตสภาพบ้านและเพื่อนบ้าน
  • ให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ป่วยได้แก่เทคนิค BATHE ได้แก่ สถานการณ์ขณะเกิดเหตุการณ์(background situation), อารมณ์ของผู้ป่วย(affect), ปัญหาอะไรที่รบกวนผู้ป่วยมากที่สุด(troubling for the patient), วิธีการที่ผู้ป่วยจัดการกับปัญหานั้น(handing the problem), ความเห็นอกเห็นใจ(empathy)
ขั้นตอนหลังการเยี่ยมบ้าน
หลังจากออกจากบ้านผู้ป่วย ทีมควรมาสรุปปัญหาที่พบ แล้วเขียนบันทึกข้อมูล
·  สรุปปัญหาครอบครัว
สรุปปัญหาครอบครัว ที่พบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ในการเยี่ยมบ้านแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องประเมินให้ครอบคลุมทุกด้าน ควรประเมินตามความจำเป็นและวัตถุประสงค์ที่เยี่ยมบ้านแต่ละครั้ง และวางแผนในการเยี่ยมบ้านครั้งต่อไป
·บันทึกข้อมูล
การบันทึกข้อมูล ควรต้องมีสมุดหรือแฟ้มประจำครอบครัว เพื่อใช้สำหรับบันทึกข้อมูลการดูแลครอบครัว การบันทึกข้อมูลจะทำให้ ทราบถึงข้อมูลที่เกิดขึ้น และการวางแผนการเยี่ยมครั้งต่อไปรวมถึงสามารถให้บุคลากรอื่นที่จะร่วมเยี่ยมทราบข้อมูลที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น